มะพร้าวกะทิกับมะพร้าวแกงต่างกันยังไง

Last updated: 12 ต.ค. 2564  |  25198 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มะพร้าวกะทิกับมะพร้าวแกงต่างกันยังไง

มะพร้าวแกง VS มะพร้าวกะทิ หลายคนเรียกผิด เช่นต้องการกะทิเพื่อไปทำขนมกล้วยบวชชี เลยสั่งมะพร้าวกะทิ ปรากฏว่าได้มะพร้าวกะทิจริงๆมาแทนที่จะเป็นมะพร้าวแกงเพื่อไปคั้นน้ำกะทิ

วันนี้เรามาทำความเข้าใจ ในความแตกต่างของมะพร้าวแกงกับมะพร้าวกะทิ อธืบายให้เข้าใจง่ายๆต่อไปจะได้เรียกกันไม่ผิด

มะพร้าวแกง คือมะพร้าวทั่วไปที่เราเอาไปคั้นน้ำกะทิ

มะพร้าวกะทิ คือมะพร้าวที่เนื้อนิ่มๆหนาๆ เอาช้อนตักได้เหมือนมะพร้าวอ่อน กินสดๆ โรยน้ำตาลเล็กน้อย อร่อยอย่าบอกใครเชียว

มะพร้าวกะทิ

พันธุ์มะพร้าวกะทิ หรือ หน่อมะพร้าวกะทิ เป็นมะพร้าวอีกชนิดหนึ่งที่ไร่พงศ์พระยาขายดีมากๆ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดสุดๆ ด้วยความที่ใน   1 ต้น เราจะพบมะพร้าวกะทิเพียง 2 – 3 ลูกเท่านั้น บางสวนมีมะพร้าวนับ 10 ไร่ แต่ก็พบเพียงต้นเดียวที่เป็นมะพร้าวกะทิ ทำให้ราคามะพร้าวกะทิ จึงสูงกว่าราคามะพร้าวโดยทั่วไป 8 - 10 เท่า ดังนั้นเกษตรกรหลายท่านจึงให้ความสำคัญกับการปลูกมะพร้าวกะทิเป็นอย่างมาก 

เนื้อมะพร้าวกะทินั้นมีรสชาดหวานมัน และหอมอร่อย นิยมทานกับขนมหวาน เช่น ทับทิมกรอบ ลอดช่องเป็นต้น  บางแห่งนำไปใส่น้ำแข็งไสผสมน้ำเชื่อมโดยใช้ ช้อนคว้านเป็นชิ้นพอคำ หรือใช้ช้อนตัก กินเฉยๆก็ได้  ปัจจุบันนิยมคว้านใส่ไอศกรีม ทำบัวลอย “มะพร้าวกะทิ”  ขายตามร้านอาหาร ภัตตาคารดังๆ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

เนื้อมะพร้าวกะทิ มีเส้นใยอาหารสูง ดีกับระบบขับถ่าย มีไขมันต่ำ และมีกรดลอริกสูงถึง 46%

 วิธีดูมะพร้าวกะทิ

สาเหตุของการเกิดมะพร้าวกะทิในธรรมชาติ

เมื่อเริ่มต้นการสร้างเนื้อมะพร้าว จะเหมือนกันทั้งมะพร้าวแกง และมะพร้าวกะทิ โดยการสร้างคาร์โบไฮเดรต ที่ชื่อว่า กาแลคโตแมนแนน ต่อมามะพร้าวแกงจะสร้างเอนไซม์ แอลฟ่า-ดี กาแลคโตซิเดส มาย่อย กาแลคโตแมนแนน ให้เป็นคาร์โบไฮเดรต เรียกว่า แมนแนน ที่เป็นเนื้อมะพร้าวธรรมดาหรือมะพร้าวแกง แต่มีบางผลที่ไม่สามารถผลิตเอนไซม์ แอลฟ่า-ดี กาแลคโตซิเดสได้เนื้อมะพร้าวก็ยังคงเป็นคาร์โบไฮเดรต กาแลคโตแมนแนน ที่มีลักษณะนุ่ม เหนียว คล้ายวุ้น รสชาดดี เป็นที่ชื่นชมของผู้บริโภค

มะพร้าวกะทิ แบ่งออกได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก มีเนื้อมะพร้าวกะทิหนาไม่มาก และนุ่ม คล้ายข้าวสุก กลุ่มที่สอง เนื้อหนาปานกลาง และ กลุ่มที่สาม เนื้อหนามาก และฟูเต็มกะลา

มะพร้าวกะทิ พบได้ทั่วไปในแหล่งที่ปลูกมะพร้าวในเขตร้อน ไม่ว่าจะที่ ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนในบ้านเราพบตามแหล่งปลูกมะพร้าวที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สมุทรสงคราม และนครศรีธรรมราช

ปัจจุบัน สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตรประสบความสำเร็จในการผลิตพันธุ์มะพร้าวกะทิได้แล้ว ที่สามารถให้ผลกะทิสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ นำโดย ดร. สมชาย วัฒนโยธิน อดีตนักวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยพืชสวน สถานที่ทำการวิจัยอยู่ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร จังหวัดชุมพร และศูนย์วิจัยพืชสวนสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ต้องการต้นพันธุ์ ติดต่อสอบถามสั่งจองได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร บริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ในวัน และเวลาราชการ

 

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก เวปไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน

 

คิดได้ทำทันที ไม่กี่ปีก็ได้ตังค์ โทรเลย 087 4898888

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้